ช่องเขาขาด (Hellfire Pass) @ กาญจนบุรี

ช่องเขาขาด / ช่องไฟนรก @ กาญจนบุรี
Hellfire Pass (Chong Khao Kad) @ Kanchanaburi

 

 

ไปเที่ยวกาญจนบุรีครั้งนี้ เป็นเพราะหยุดยาวสงกรานต์ไม่อยากอยู่บ้าน จะไปทะเลก็หาที่พักไม่ได้ …สุดท้ายก็ตัดสินใจมาเที่ยวกาญจนบุรี เพราะไม่ได้มาจังหวัดนี้ซักพักนึงแล้ว …แต่ไปกาญหน้าร้อนเนี่ยนะ … หึหึ … ขอบอกเลยว่าร้อนมากกก แอบลังเล แต่ก็คิดไว้ละล่ะว่า ไปไหนก็คงร้อนเหมือนกันน่ะ ตัดสินใจละ … ไปกาญเนี่ยแหละ ไปครั้งนี้ ขับรถไปเที่ยว แบบไม่มีแผนการเที่ยว .. แค่จองที่พักไว้แล้วก็พอ ตื่นกี่โมงก็ขับไป ..สรุป .. กว่าจะได้ออกเดินทาง ..เกือบเที่ยง

พอไปถึงกาญ ก็ตกลงกับเพื่อนว่า ไปไหนกันก่อนดี ก่อนจะเข้าที่พัก .. สุดท้ายตกลงกันได้ว่า ไปดูช่องเขาขาดกันเพราะเพื่อนเรายังไม่เคยไป แล้วเที่ยววันพรุ่งนี้ จะได้ไม่ต้องมาแถวนี้แล้ว ก็เที่ยวแถวฝั่งที่พักไปเลย (เราพักทางฝั่งเขื่อนศรีนครินทร์ ห่างจากช่องเขาขาด 70 กม.) ..

พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดมีอะไร? …
พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และเพื่อรำลึกถึงเชลยจากชาติพันธมิตรและแรงงานชาวเอเชียที่ถูกบังคับให้สร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่าในช่วงภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก โดยพิพิธภัณฑ์ส่วนแรกจัดแสดงภายในอาคาร และอีกส่วนจะอยู่ภายนอกอาคาร (ด้านหลังของพิพิธภัณฑ์) เป็นเส้นทางเดินไปยังบริเวณช่องเขาขาด

เส้นทางการเดินไปจากอาคารพิพิธภัณฑ์ไปยังช่องเขาขาดมีระยะทางไม่ไกลมาก เดินไปกลับประมาณ 40 นาที แต่เส้นทางเดิน (walking trail) จริง ๆ แล้วสามารถเดินไปต่อได้จนถึงช่องเครื่องอัดอากาศ ระยะทางจากพิพิธภัณฑ์ไปจนสุดทางประมาณ 4 กม. แต่ส่วนใหญ่แล้วที่มาเที่ยวกัน จะเดินถึงช่องเขาขาดแล้วเดินกลับ ทุกครั้งที่เรามา เราก็เดินถึงช่องเขาขาดแล้วเดินกลับเหมือนกัน แต่ครั้งนี้เดินเลยออกมาอีกนิดนึงคือเดินมาถึงจุดชมวิวหุบเขาแควน้อย (The Kwae Noi Valley Lookout) จากนั้นก็เดินกลับ เพราะด้วยอากาศที่ร้อนมากมาย ไม่ได้เตรียมน้ำมา เวลาที่เรามาเริ่มเดินช้าไป และรองเท้าที่ไม่เหมาะแก่การเดินเลย ก็เลยตัดสินใจกลับก่อน ไว้ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสและพร้อมมากกว่านี้ ก็อยากจะเดินให้ครบนะ

…………………….

มาดูรูปกันเลยดีกว่าค่ะ ^__^

เส้นทาง walking trail .. จะเห็นว่าสุดเส้นทาง ไกลถึง 4 กม.  แต่ส่วนใหญ่ก็จะเดินกันมาถึงตรงที่ช่องเขาขาด ซึ่งอยู่ในรูปตรงมุมขวาล่างค่ะ  ครั้งนี้เราเดินถึง The Kwae Noi Valley Lookout   กะไว้ว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะเดินให้สุดเส้นทางซักครั้ง

เส้นทางเดินลงบันไดจากอาคารพิพิธภัณฑ์ เพื่อเดินไปยังช่องเขาขาด

วิวระหว่างทางเดินไปช่องเขาขาด พอลงมาจากบันไดแล้ว จะเป็นทางเดินเรียบ ๆ ไปตลอดทางจนถึงช่องเขาขาด

เดินมาซักพัก ก็ถึงช่องเขาขาด

เงยหน้ามองข้างบนตอนอยู่ในช่องเขาขาด   วิวต้นไม้ก็สวยดีนะ

In remembrance of all those who suffered and all who died.

เส้นเทางเดินจากช่องเขาขาด ไปจุดชมวิวหุบเขาแควน้อย (The Kwae Noi Valley Lookout) จะไม่ใช่เส้นทางเดินราบเรียบแล้ว แต่มีบันไดให้ต้องเดินขึ้นลง ซึ่งต้องใช้ความระมัดระวังในการเดิน และควรใส่รองเท้าที่เหมาะสมกับการเดินค่ะ

วิวที่จุดชมวิวหุบเขาแควน้อย (The Kwae Noi Valley Lookout)

มีเส้นทางเดินไปต่อ แต่เราไม่ได้ไป เพราะด้วยอากาศที่ร้อนมากมาย ไม่ได้เตรียมน้ำมา เวลาที่เรามาเริ่มเดินช้าไป และรองเท้าที่ไม่เหมาะแก่การเดินเลย ก็เลยตัดสินใจกลับ ถ้ามีโอกาสก็อยากจะมาเดินให้ครบนะ

เพิ่มเติมรูป … วิวระหว่างทางเดินกลับไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์ค่ะ

……………………………….
ข้อมูลเกี่ยวกับช่องเขาขาด / ช่องไฟนรก (Hellfire Pass)
ช่องเขาขาด / ช่องไฟนรก อยู่ในแนวขุดตัดการเจาะช่องเขาเพื่อสร้างเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่า ให้รถไฟผ่านเขาที่ขวางเส้นทางอยู่โดยช่องเขาขาด หรือช่องไฟนรก จะเป็นส่วนที่ลึกที่สุดและใหญ่ที่สุดของความยาวเส้นทางรถไฟทั้งหมด ซึ่งการทำงานของแรงงานที่เป็นเชลยศึกในการขุดหลุมเพื่อตัดช่องเขา เริ่มต้นในเดือน เม.ย. 2486 โดยการขุดหลุมเจาะหินด้วยมือ ใช้วิธีทุบและตอก เมื่อหลุมลึกพอ ก็ใช้ระเบิด จากนั้นก็ขนย้ายก้อนหินที่แตกด้วยมือ แล้วทำการเจาะหลุมเพื่อเริ่มกระบวนการต่อไป เนื่องจากกระบวนการทุกอย่างทำด้วยมือ ทำให้งานล่าช้ากว่ากำหนด จึงต้องมีการเร่งงาน ทำงานเป็นกะ กะละ 18 ชั่วโมง โดยในตอนกลางคืน จะใช้แสงสว่างจากกองไฟ / คบเพลิง / ตะเกียง ทำให้มีแสงไฟและเงาของผู้คุมและเชลยศึกสะท้อนบนผนังก้อนหิน เห็นเป็นแสงเงาวูบวาบดูเหมือนกับเปลวเพลิงแห่งนรก จึงเป็นที่มาของชื่อช่องไฟนรก

  • การเดินทางไปพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด
    จากตัวเมืองกาญจนบุรี ขับรถไปเส้นทางหลวงหมายเลข 323 ไปทางอำเภอไทรโยค พอผ่านน้ำตกไทรโยคน้อยไปประมาณ 20 กิโลเมตรพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดจะอยู่ซ้ายมือ โดยตั้งอยู่ในบริเวณกองการเกษตรและสหกรณ์
  • ข้อมูลการเข้าชม
    เปิดทุกวัน 9.00 น. -16.00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าชม
  • คำแนะนำ
    ถ้าจะเดินไปไกลกว่าช่องเขาขาด เตรียมนำ้ดื่ม และรองเท้าที่เหมาะสมกับการเดินบันไดหินขึ้นๆลงๆ / ระยะทางไกล ด้วยนะ

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *